Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดยะลา

รายงานสถานการณ์แรงงานจังหวัดยะลา ไตรมาส 3 ปี 2558 (กรกฎาคม – กันยายน)

pll_content_description

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ไตรมาส 3 (กรกฎาคม – กันยายน) ปี 2558 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

สภาพเศรษฐกิจ

สำนักงานคลังจังหวัดยะลา รายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดยะลา ประจำเดือนสิงหาคม 2558
ว่าเศรษฐกิจจังหวัดส่งสัญญาณไปในทิศทางที่ดีขึ้น จาก ด้านอุปทาน ตามการขยายตัวของภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ด้านอุปสงค์ ตามการขยายตัวของการค้าชายแดน การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อของจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รายได้เกษตรกร ในจังหวัดยังคงหดตัว
เศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) มีสัญญาณขยายตัว สะท้อนจาก ภาคบริการ ขยายตัว โดยดัชนี
ภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 55.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.68 เป็นผลมาจากได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และความร่วมมือที่ดีจากประเทศมาเลเซีย ร่วมกันประชาสัมพันธ์ มีการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ประกอบกับในเดือนนี้เป็นช่วงเทศกาลผลไม้นานาชนิดของอำเภอเบตง จึงมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง อย่างมากมาย เช่น งานเทศกาลอาหารรสดี ผลไม้รสเด่น หมู่บ้านโอทอป
เพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง และการละเล่นพื้นเมือง กีฬาพื้นบ้าน คืนความสุขให้ประชาชน และกิจกรรมปั่นเพื่อแม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาร่วมงานอย่างหนาแน่น การผลิตภาอุตสาหกรรม ขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพารา ขยายตัวร้อยละ 26.53 เนื่องจากความต้องการ
ซื้อของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากยางพารามีราคาต่ำ ทำให้ประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับผู้ประกอบการบางส่วนมีนโยบายกระตุ้นยอดการผลิตและการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ บางส่วนผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อที่มีไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยางพารารา เพื่อรองรับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ การผลิตภาคเกษตรกรรม
หดตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ 31.65 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตยางพารา มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ร้อยละ 31.84 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีจำนวนวันในการกรีดยางลดลงประกอบกับราคายางพาราไม่จูงใจให้เกษตรกรเร่งกรีดยางพารา ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ลดลง
เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ (การใช้จ่าย) โดยรวมขยายตัว จากเครื่องชี้ดัชนีการค้าชายแดน ขยายตัว
ร้อยละ 5.97 จากมูลค่าการส่งออกรวม ขยายตัวร้อยละ 8.04 โดยการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น น้ำยางข้น ยางผสมสำเร็จ ยางแท่ง ยางสกิม ด้านการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.82 เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการลงทุนรวม ร้อยละ 4.98 ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว ร้อยละ 11.26 สะท้อนผ่านเครื่องชี้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายตัวร้อยละ 20.96 เป็นผลมาจากกิจการก่อสร้างอาคาร และกิจการซุปเปอร์มาร์เก็ต มียอดขายเพิ่มขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ด้านดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐบาล ขยายตัว ร้อยละ 1.68 เป็นผลมาจากการเบิกจ่ายงบลงทุน ขยายตัวร้อยละ 43.21 เนื่องจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทำให้ส่วนราชการที่ได้รับงบลงทุนต้องเร่งรัดการก่อหนี้และดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้ทันภายในปีงบประมาณ 2558 เพื่อไม่ให้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรต้องพ้นไป จากการถูกโอนกลับไปตั้งจ่ายเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลด้านอื่นๆ ต่อไป ส่งผลให้เดือนนี้มีการเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น ส่วนการเบิกจ่ายงบประจำ หดตัวร้อยละ 8.73 เนื่องจากส่วนราชการไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการที่มีวงเงินสูงเช่นในปีที่ผ่านมา ทำให้มีการเบิกจ่ายงบประจำได้น้อยกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

สถานการณ์ด้านแรงงาน

จังหวัดยะลามีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในจังหวัดยะลา จำนวน 325,375 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน226,609 คน ผู้มีงานทำ 222,665 คน ผู้ว่างงาน 3,944 คน และไม่มีกำลังที่แรงงานรอฤดูกาลในไตรมาสนี้

การมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดยะลา จำนวน 222,665 คน ทำงานในภาคเกษตร จำนวน 144,633 คน หรือร้อยละ 64.95 ทำงานนอกภาคเกษตร จำนวน 78,032 คน โดยทำงานในสาขาการขายส่ง ขายปลีก มากที่สุด จำนวน 27,215 คน หรือร้อยละ 34.88 รองลงมาคือกิจกรรมโรงแรมและอาหาร จำนวน 11,191 คน คิดเป็นร้อยละ 14.34 และประเภทการศึกษา จำนวน 10,553 คน หรือร้อยละ 13.52

การว่างงาน จังหวัดยะลามีผู้ว่างงานประมาณ 3,944 คน หรือมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.74
โดยเพศหญิงจะมีอัตราว่างงานสูงกว่าเพศชายมาก กล่าวคือ เพศหญิงร้อยละ 2.21 ขณะที่เพศชายร้อยละ 1.36
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 1.04 (ไตรมาส 2 ปี 2558 มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.70)

การบริการจัดหางานภายในประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน) ปี 2558
สถานประกอบการได้แจ้งตำแหน่งงานว่าง จำนวน 633 อัตรา โดยมีผู้สมัครงาน 1,495 คน และการบรรจุงานจะมีอัตราบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างร้อยละ 88.78

แรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ข้อมูลเดือนกันยายน 2558 มีจำนวน 158 คน แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นประเภทชั่วคราว (ม.9) จำนวน 120 คน รองลงมาคือ
แรงงานต่างด้าวประเภทมาตรา 12 (ยกเว้นมติ ครม.) จำนวน 37 คน และประเภทส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1 คน ตามลำดับ โดยแรงงานต่างด้าวที่มีมากที่สุด ได้แก่ สัญชาติฟิลิปปินส์ จำนวน 35 คน หรือร้อยละ 29.17 และรองลงมาเป็นสัญชาติจีน จำนวน 26 คน หรือร้อยละ 21.67
สำหรับแรงงานด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2556 เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดมีจำนวนทั้งสิ้น 2,829 คน จำแนกเป็นสัญชาติ เมียนมา 2,764 คน (ร้อยละ 97.70) กัมพูชา 61 คน (ร้อยละ 2.16) และลาว 4 คน (ร้อยละ 0.14)

ในส่วนของแรงงานไทยที่ได้รับอนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศไตรมาส 3 ปี 2558 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 21 คน และหากพิจารณาตามวิธีการเดินทางพบว่า เดินทางไปโดยวิธี Re-Entry จำนวน 20 คน หรือร้อยละ 95.24 และเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 1 คน หรือร้อยละ 4.76 และส่วนภูมิภาคที่แรงงานไทยไปทำงานส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่ภูมิภาคเอเชีย จำนวน 19 คน หรือร้อยละ 90.48 และตะวันออกกลาง จำนวน 2 คน (ร้อยละ 9.52) ของแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด

การพัฒนาศักยภาพแรงงาน ไม่มีผู้เข้ารับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน (สิ้นสุดการฝึกเตรียมเข้าทำงานตั้งแต่ไตรมาส 2) การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน จำนวน 203 คน และผ่านการฝึกทั้งหมด โดยกลุ่มอาชีพ
ที่ฝึกยกระดับฝีมือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพธุรกิจและบริการ และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมีการทดสอบ 163 คน และผ่านการทดสอบทั้งหมด โดยประเภทที่เข้าทดสอบมากที่สุด ได้แก่ ประเภทช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ จำนวน 84 คน และ ประเภทอุตสาหกรรมศิลป์ จำนวน 40 คน

การคุ้มครองแรงงาน จากการตรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 153 แห่ง มีลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ
จำนวน 752 คน ซึ่งสถานประกอบการที่ตรวจส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1-4 คน ร้อยละ 73.20มีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอยู่ 13 แห่ง

การตรวจความปลอดภัยในการทำงาน มีการตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการทั้งสิ้น
29 แห่ง ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 1,384 คน พบว่าในไตรมาสนี้มีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายความปลอดภัยอยู่ 29 แห่ง

การประสบอันตราย/เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 จังหวัดยะลามีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 28 คน โดยประเภทของความร้ายแรง พบว่าส่วนใหญ่จะหยุดงานเกิน 3 วัน จำนวน 14 คน หรือร้อยละ 50 และหยุดไม่เกิน 3 วัน จำนวน 13 คน หรือร้อยละ 46.43 และในไตรมาสนี้มีผู้สูญเสียอวัยวะบางส่วนอยู่ 1 คน แต่ไม่มีผู้ตาย หรือสูญหาย

การเลิกจ้างแรงงาน สถานประกอบกิจการในจังหวัดยะลา ที่เลิกกิจการ มีจำนวน 5 แห่ง ลูกจ้าง
ถูกเลิกจ้าง 7 คน เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1-9 คน ทั้ง 5 แห่ง หรือร้อยละ 100 โดยประเภทกิจการที่มีการเลิกกิจการ ได้แก่ ประเภทร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด การค้าอื่นๆ 3 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4 คน และ
การค้าอื่นๆ 2 แห่ง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 3 คน

การประกันสังคม ข้อมูล เดือนกันยายน 2558 พบว่าจังหวัดยะลามีสถานประกอบการที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจำนวน 1,452 แห่ง จำนวนสถานประกอบการและลูกจ้างที่อยู่ในข่ายกองทุนเงินทดแทน
จำนวน 1,242 แห่ง ลูกจ้าง 13,918 คน และมีสถานพยาบาลในสังกัดประกันสังคมที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล จำนวน 2 แห่ง



TOP