สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ไตรมาส 4 (ตุลาคม – ธันวาคม) ปี 2556 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ สภาพเศรษฐกิจ สำนักงานคลังจังหวัดยะลา รายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดยะลา ประจำเดือนพฤศจิกายน 2556 ว่าเศรษฐกิจจังหวัดมีสัญญาณขยายตัว จากทั้งด้านอุปทาน และด้านอุปสงค์ ตามการขยายตัวของการผลิต ภาคเกษตรกรรม การผลิตภาคบริการ การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจของจังหวัดยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม เศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) มีสัญญาณขยายตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคเกษตรกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.40 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 7.05 เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตยางพาราขยายตัวร้อยละ 2.78 จากภาพรวมของสภาพอากาศที่เอื้อต่อการกรีดยาง ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น แม้ว่ามีฝนตกบ้างในบางช่วง ภาคบริการขยายตัว โดยดัชนีผลิตภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 8.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในภาครัฐในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอเบตงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน เทศบาลเมืองเบตงมีการจัดกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทงประจำปี ส่งผลให้กรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ให้ความสนใจร่วมงานลอยกระทงที่จัดขึ้นอย่างคับคั่งประกอบกับเป็นช่วงที่มีอากาศเย็นสบายเหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพารา หดตัวร้อยละ 4.49 เป็นผลมาจากความต้องการของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง ตามอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่อยู่ในภาวะซบเซา รวมทั้งความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราแปลรูปขั้นต้นจากต่างประเทศ ที่ยังคงชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ (การใช้จ่าย) โดยรวมขยายตัว จากเครื่องชี้ ดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 12.32 โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการ ขยายตัวร้อยละ 16.59 และการเบิกจ่ายงบประจำ ขยายตัวร้อยละ 11.98 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 11.14 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากเครื่องชี้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ลดลงร้อยละ 50.00 และสินเชื่อเพื่อการลงทุนรวมที่ชะลอตัวลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัว ร้อยละ 7.90 ปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.02 เป็นผลมาจากเครื่องชี้ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลงร้อยละ 30.51 และ 11.74 ตามลำดับ เนื่องจากรายได้ของประชาชนในจังหวัดลดลง ตามราคาผลผลิตยางพารา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคภาคครัวเรือน จึงมีการจับจ่ายใช้สอยเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ด้านการค้าชายแดนหดตัว จากดัชนีการค้าชายแดนร้อยละ 1.47 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวเปราะบาง ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศมีการสั่งซื้อสินค้าลดลง โดยการนำเข้า หดตัวร้อยละ 28.88 โดยสินค้าที่มียอดนำเข้าลดลง ได้แก่ ภาชนะบรรจุแก๊สแอมโมเนียใช้แล้ว คาร์บอนแบล็ค (ชนิดแผ่น) และดอกไม้สด เป็นต้น ขณะที่มูลค่าการส่งออก หดตัวร้อยละ 0.28 เนื่องจากสินค้าส่งออกที่สำคัญของจังหวัด คือ ผลิตภัณฑ์จากยางพาราแปรรูปขั้นต้นประกอบด้วย ยางผสมคอมพาวน์ (คาร์บอนแบล็ค) น้ำยางข้น และยางสกิม มีมูลค่าการส่งออกลดลง สถานการณ์ด้านแรงงาน จังหวัดยะลามีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในจังหวัดยะลา จำนวน 391,651 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน287,644 คน ผู้มีงานทำ 281,657 คน ผู้ว่างงาน 5,988 คน ผู้รอฤดูกาล 124 คน การมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดยะลาจำนวน 281,657 ทำงานในภาคเกษตร จำนวน 203,725 คน หรือร้อยละ 72.33 ทำงานนอกภาคเกษตร จำนวน 77,932 คน โดยทำงานในสาขาการขายส่ง ขายปลีก มากที่สุด จำนวน 24,639 คน หรือร้อยละ 31.62 รองลงมาคือการบริหารราชการและป้องกันประเทศ จำนวน 12,060 คน คิดเป็นร้อยละ 15.48 และผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา จำนวน 75,776 คน หรือร้อยละ 26.90 การว่างงาน จังหวัดยะลามีผู้ว่างงานประมาณ 5,988 คน หรือมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.08 โดยชายจะมีอัตราว่างงานสูงกว่าหญิงเล็กน้อย กล่าวคือ เพศชายร้อยละ 1.06 ขณะที่เพศหญิงร้อยละ 1.02 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้สูงกว่าไตรมาสที่แล้วที่มีอัตราว่างงานภาพรวมร้อยละ 1.85 การบริการจัดหางานในประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม – ธันวาคม) ปี 2556 สถานประกอบการได้แจ้งตำแหน่งงานว่าง จำนวน 630 อัตรา โดยมีผู้สมัครงาน 874 คน และการบรรจุงานจะมีอัตราบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างร้อยละ 78.57 แรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ข้อมูลเดือนธันวาคม 2556 มีจำนวน 138 คน แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นประเภทชั่วคราว จำนวน 107 คน รองลงมาคือ แรงงานต่างด้าวประเภทมาตรา 12 (ยกเว้นมติ ครม.) จำนวน 29 คน และประเภทส่งเสริมกรลงทุน จำนวน 2 คน ตามลำดับ โดยแรงงานด่างด้าวสัญชาติฟิลิปปินส์มีมากที่สุด จำนวน 38 คน หรือร้อยละ 35.51 (ยกเว้นประเภทตลอดชีพ) สำหรับแรงงานด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดมีจำนวนทั้งสิ้น 1,601 คน จำแนกเป็นสัญชาติ พม่า ร้อยละ 99.94 (1,600 คน) ลาว 1 คน (ร้อยละ 0.06) แรงงานไทยในต่างประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 จังหวัดยะลา ไม่มีผู้มาแจ้งความประสงค์ ไปทำงานต่างประเทศเลย ในส่วนของแรงงานไทยที่ได้รับอนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศไตรมาส 4 ปี 2556 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 32 คน และหากพิจารณาตามวิธีการเดินทางพบว่า เดินทางไปโดยวิธี Re-Entry จำนวน 30 คน หรือร้อยละ 93.75 และเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.25 และส่วนภูมิภาคที่แรงงานไทยไปทำงานส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่ภูมิภาคเอเชีย จำนวน 22 คน หรือร้อยละ 68.75 ภูมิภาคอื่นๆ จำนวน 7 คน (หรือร้อยละ 21.87) และตะวันออกกลาง จำนวน 3 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.38 ของแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด การพัฒนาศักยภาพแรงงาน มีผู้เข้ารับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน จำนวน 25 คน การฝึกอบรมจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2557 จึงยังไม่มีจำนวนผู้ผ่านการฝึก การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน จำนวน 398 คน และผ่านการฝึก 295 คน โดยกลุ่มอาชีพที่ฝึกยกระดับฝีมือสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจและบริการ จำนวน 278 คน ผ่านการฝึก 275 คน ประเภทช่างอุตสาหกรรมศิลป์ มีผู้เข้าฝึก จำนวน 120 คน ผ่านการฝึกทั้งหมด และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมีการทดสอบ 56 คน คือประเภทธุรกิจและบริการ จำนวน 54 คน ผ่านการทดสอบ จำนวน 49 คน และประเภทช่างก่อสร้าง จำนวน 2 คน และทดสอบผ่านทั้ง 2 คน การคุ้มครองแรงงาน จากการตรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 32 แห่ง มีลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 756 คน ซึ่งสถานประกอบการที่ตรวจส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก ต่ำกว่า 10 คน ร้อยละ 31.25 โดยสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1 แห่ง และได้คำแนะนำไปแล้ว การตรวจความปลอดภัยในการทำงาน มีการตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการทั้งสิ้น 13 แห่ง ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 233 คน พบว่าสถานประกอบการที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายความปลอดภัย จำนวน 10 แห่ง หรือร้อยละ 76.92 ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 3 แห่ง หรือร้อยละ 23.08 โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ได้แก่ ประเภทการขายส่ง การขายปลีกฯ 7 แห่ง ประเภทการก่อสร้าง 5 แห่ง และประเภทการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.85 38.46 7.69 ตามลำดับ การประสบอันอันตราย/เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 จังหวัดยะลามีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 40 คน โดยประเภทของความร้ายแรง พบว่าส่วนใหญ่จะหยุดงานเกิน 3 วัน จำนวน 16 คน หรือร้อยละ 40.00 และหยุดไม่เกิน 3 วัน จำนวน 24 คน หรือร้อยละ 60.00 การเลิกจ้างแรงงาน สถานประกอบกิจการในจังหวัดยะลา ที่เลิกกิจการ มีจำนวน 9 แห่ง ลูกจ้าง ถูกเลิกจ้าง 31 คน เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1-9 คน จำนาวน 8 แห่ง หรือร้อยละ 88.89 จำนวนลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 13 คน คิดเป็นร้อยละ 41.93 และสถานประกอบการขนาด 10+ จำนวน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.11 ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 18 คน หรือร้อยละ 58.06 โดยประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด ได้แก่ ร้านค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ และร้านขายอาหาร โรงแรม ห้องเช่า กิจการละ 3 แห่ง การประกันสังคม ข้อมูล เดือนธันวาคม 2556 พบว่าจังหวัดยะลามีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมจำนวน 1,495 แห่ง จำนวนสถานประกอบการและลูกจ้างที่อยู่ในข่ายกองทุนเงินทดแทน จำนวน 1,220 แห่ง ลูกจ้าง 13,232 คน และมีสถานพยาบาลในสังกัดประกันสังคมที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล จำนวน 2 แห่ง