บทสรุปผู้บริหาร
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงานไตรมาส 4 (ตุลาคม – ธันวาคม) ปี 2554 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
สภาพทั่วไป
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 4,521.078ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,825,673.75 ไร่ เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล
แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองยะลา อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอธารโต อำเภอ กาบัง และอำเภอกรงปินัง
เมื่อเปรียบเทียบขนาดพื้นที่ของแต่ละอำเภอแล้วปรากฏว่า อำเภอเบตง มีพื้นที่มากที่สุด คือ ประมาณ 1,328.001 ตารางกิโลเมตร และอำเภอกรงปินัง มีพื้นที่น้อยที่สุด คือประมาณ 185 ตารางกิโลเมตร
ภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดยะลามีลักษณะเป็นภูเขา เนินเขา และหุบเขา ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงใต้สุดของจังหวัด มีที่ราบบางส่วน ทางตอนเหนือของจังหวัด ได้แก่ บริเวณที่ราบแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีไหลผ่าน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางถึงสูงมาก โดยเฉลี่ยระหว่าง 100 – 200 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ และสวนยางพารา มีเทือกเขาที่สำคัญอยู่ 2 เทือกเขา คือ เทือกเขาสันกาลาคีรี เริ่มจากอำเภอเบตง เป็นแนวยาวกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศมาเลเซียและเทือกเขาปิโล ซึ่งเป็นเทือกเขาอยู่ภายในจังหวัด ในเขตตำบลบุดี บันนังสาเรง ของอำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปินัง และอำเภอรามัน
สภาพเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจังหวัดยะลา ปี 2553 พิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ณ ราคาประจำปี มีมูลค่าเท่ากับ 46,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39,224 ในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 6,874 ล้านบาท
อัตราการขยายตัวของมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากปีที่ผ่านมาโดยการผลิตภาคเกษตร หดตัวร้อยละ 5.3 จากที่ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากสาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ หดตัวร้อยละ 5.3 และสาขาประมงขยายตัวร้อยละ 4.0 ส่วนภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากปีที่ผ่านมาเนื่องจากสาขาบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สาขาการบริหารราชการฯ การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญของภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 0.2 ตามลำดับ
ภาคเกษตร : การผลิตภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากปีที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปีของการผลิต ภาคเกษตรในปี 2553 เท่ากับ 22,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 17,901 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 4,759 ล้านบาท
นอกภาคเกษตร : การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัว ร้อยละ 5.1 จากปีที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปีของการผลิตภาคนอกเกษตรในปี 2553 เท่ากับ 23,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 21,323 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เท่ากับ 2,116 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP per Capita): ค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในปี 2553 เท่ากับ 94,611 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.6
สถานการณ์ด้านแรงงาน
ประชากรอายุ 15ปีขึ้นไปในจังหวัดยะลา(ข้อมูลไตรมาส 3 ปี 2554(กรกฎาคม-กันยายน)) มีจำนวน 373,948 คน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 266,754 คน ผู้มีงานทำ 264,162 คน ผู้ว่างงาน 2,591 คน
การมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดยะลามีจำนวน 264,16คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 2 ปี 2554 คือ 261,302 คน) ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร จำนวน 170,689 คน (ร้อยละ 64.6) ทำงานนอกภาคเกษตร (ร้อยละ 35.4)โดยทำงานเป็นพนักงานบริการ พนักงานในร้านค้า และตลาด มากที่สุด จำนวน 49,416 คน(ร้อยละ 18.7) รองลงมาคือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 11,762คน(ร้อยละ 4.5)และผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา จำนวน 68,556 คน (ร้อยละ 26.0)
การว่างงาน จังหวัดยะลา มีผู้ว่างงานประมาณ 2,591 คน หรือมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 2 ปี 2554 มีจำนวนผู้ว่างงาน 890 คน หรือร้อยละ 0.3) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้ว พบว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 0.7 (ไตรมาส 3 ปี 2553 มีจำนวนผู้ว่างงาน 1,477 คน หรือร้อยละ 0.6)โดยผู้ว่างงานไตรมาสนี้ส่วนใหญ่เป็นชาย จำนวน 1,610 คน และหญิง จำนวน 981 คน
การบริการจัดหางานในประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปี 2554 นายจ้าง / สถานประกอบการได้แจ้งตำแหน่งงานว่าง จำนวน 878อัตรา ลดลงร้อยละ 31.1จากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 1,275 อัตรา) โดยมีผู้สมัครงาน 1,103 คน และการบรรจุงาน จำนวน 295 คน มีอัตราบรรจุงาน ต่อตำแหน่งงานว่างร้อยละ 33.6 ส่วนตำแหน่งงานว่างตามระดับการศึกษาที่ต้องการสูงสุด คือ ระดับมัธยมศึกษามีความต้องการ ร้อยละ 41.3 (363 อัตรา) รองลงมาเป็นระดับปวส.คือร้อยละ 14.7 (129 อัตรา) สำหรับอาชีพที่มีการบรรจุงานมากที่สุด คือ ประเภทอาชีพเสมียน เจ้าหน้าที่ ร้อยละ 44.3(219คน)และอุตสาหกรรมที่มีตำแหน่งงานว่างมากที่สุด คือ การขายส่ง การขายปลีกฯ ร้อยละ 40.2 (655 อัตรา)
อุปทานของจังหวัดยะลา พบว่าในปี 2554 มีอุปทานรวมซึ่งเป็นแรงงานใหม่ 98,923 คน และใน ปี 2563 จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 97,556 คน สาเหตุหลักเกิดจากมีนักเรียนวัยเรียนที่เข้าสู่ระบบการศึกษาน้อยลงจำนวนอุปทานจะปรากฏให้เห็นมากที่สุดที่ระดับการศึกษา ม.6 จำนวน 32,587 คน ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ยังมีนักเรียนที่จบการศึกษาและไม่เรียนต่อในระดับจังหวัดอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับ ม.6 มีผู้จบการศึกษาและต้องการออกมาทำงานถึง 3,096 คน จำนวนผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในระดับ ปวส./อนุปริญญา มีถึง 2,267 คน สูงกว่าจำนวนอุปทานระดับ ปวช.
เมื่อเปรียบเทียบอุปสงค์กับอุปทานตามระดับการศึกษา พบว่า ทุก ๆ ปี (2554-2563) เศรษฐกิจของจังหวัดยะลาไม่สามารถจะดูดซับอุปทานของจังหวัดได้หมดทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน (Surplus Labor) ถึง 94,923 คนในปี 2554 แรงงานบางส่วนก็ย้ายถิ่น (Migrate) ไปหางานทำยังจังหวัดอื่นๆ
แรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ข้อมูลเดือนธันวาคม 2554 มีจำนวน 105 คน แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นประเภทชั่วคราว จำนวน 84 คน และแรงงานต่างด้าวประเภทมาตรา 12 (ยกเว้นมติ ครม.) จำนวน 21 คน โดยแรงงานต่างด้าวสัญชาติจีน มีมากที่สุด จำนวน 20 คน หรือร้อยละ 61.0 และรองลงมาคือสัญชาติฟิลิปปินส์ จำนวน 19 คน (ร้อยละ 23.2)
สำหรับแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2549 เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว 3สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดยะลา มีจำนวนทั้งสิ้น 3,029 คน เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 2,883 คน) โดยสัญชาติพม่า มีมากที่สุด คือ ร้อยละ 91.1 (2,758 คน) รองลงมาเป็นสัญชาติกัมพูชามีจำนวน 243 คน(ร้อยละ 8.0) และสัญชาติลาวมีจำนวน 28 คน (ร้อยละ 0.9)
แรงงานไทยในต่างประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 แรงงานไทยจากจังหวัดยะลาที่ขออนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 21 ราย พบว่า ไปโดยวิธี Re-Entry ส่วนภูมิภาคที่แรงงานไทยไปทำงานส่วนใหญ่ คือ ในภูมิภาคอื่น ๆ จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 61.1 และภูมิภาคเอเชีย จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 38.9
การพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในจังหวัดยะลา ไตรมาสนี้ มีผู้เข้ารับการฝึกเสริมทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 149 คน เป็นกลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ จำนวน 129 คน (ร้อยละ 86.6) ช่างเครื่องกล จำนวน 20คน (ร้อยละ 13.4) การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน มีผู้เข้ารับฝึก จำนวน 175 คน เป็นกลุ่มอาชีพช่างก่อสร้าง จำนวน 75 คน(ร้อยละ 42.9) กลุ่มอาชีพธุรกิจและบริการ จำนวน 52 คน (ร้อยละ 29.7) และกลุ่มช่างอุตสาหกรรมจำนวน 48 คน (ร้อยละ 27.4) การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน มีผู้เข้ารับการฝึก จำนวน 55 คน เป็นกลุ่มช่างเครื่องกล จำนวน 36 คน (ร้อยละ 65.5) กลุ่มอาชีพช่างก่อสร้าง จำนวน 19 คน (ร้อยละ 34.5)
การคุ้มครองแรงงาน จังหวัดยะลามีการตรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 51 แห่ง ลดลงร้อยละ 56.7 จากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 90 แห่ง) ไตรมาสนี้มีลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 976 คน ซึ่งสถานประกอบการที่เข้ารับการตรวจส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาด 10-19 คน มีจำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 29.4 ของสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจทั้งหมด โดยมีสถานประกอบการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 51 แห่ง(ร้อยละ 100)
การตรวจความปลอดภัยในการทำงาน มีการตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการทั้งสิ้น 26 แห่ง ลดลง ร้อยละ47.2จากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 28 แห่ง) ไตรมาสนี้มีลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 649 คน พบว่า มีสถานประกอบการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 26 แห่ง(ร้อยละ 100)
การประสบอันตราย / เจ็บป่วยจากการทำงาน ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 จังหวัดยะลา มีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 60 คนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.3 จากไตรมาสที่ผ่านมา(ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 57 คน) โดยประเภทของ ความร้ายแรง พบว่า ส่วนใหญ่จะหยุดงานเกิน 3 วัน และหยุดงานไม่เกิน 3 วัน จำนวนละ 29 คน (ร้อยละ 48.3)
การเลิกจ้างแรงงาน สถานประกอบ-กิจการในจังหวัดยะลา ที่เลิกกิจการมีจำนวน 5 แห่ง ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 12 แห่ง) ไตรมาสนี้มีผู้ถูกเลิกจ้าง จำนวน 16 ราย
การประกันสังคม จังหวัดยะลามีสถานประกอบการที่ ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จำนวน 1,477 แห่ง ผู้ประกันตนทั้งสิ้น 19,360 คน และมีสถานพยาบาล ในสังกัดประกันสังคมที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล จำนวน 2 แห่ง
จำนวนผู้ใช้บริการกองทุนประกันสังคม ประเภทประโยชน์ทดแทน ไตรมาสนี้มีจำนวน 17,015 คน ลดลงร้อยละ 24.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2554 จำนวน 22,543 คน) ประเภทประโยชน์ทดแทนที่ใช้บริการสูงสุด ได้แก่ กรณีสงเคราะห์บุตร มีจำนวน 13,667 คน หรือร้อยละ 80.3 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด สำหรับการจ่ายเงินตามประเภทประโยชน์ทดแทน พบว่า การจ่ายเงินกรณีสงเคราะห์บุตร มีการจ่ายเงินสูงสุด ถึง 8,409,650 บาท หรือร้อยละ 36.9 ของเงินประโยชน์ทดแทนที่จ่าย(จำนวนเงินที่จ่ายตามประเภทประโยชน์ทดแทนทั้งหมด 22,776,366.04 บาท)