Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดยะลา

สถานการณ์แรงงานจังหวัดยะลา ไตรมาส 3 ปี 2556 (กรกฎาคม-กันยายน)

pll_content_description

 บทสรุปผู้บริหาร

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงาน  ไตรมาส 3 (กรกฎาคม – กันยายน) ปี 2556  มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

 

สภาพเศรษฐกิจ

 สำนักงานคลังจังหวัดยะลา รายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดยะลา ประจำเดือนสิงหาคม 2556 ว่าเศรษฐกิจจังหวัดมีสัญญาณหดตัว ด้านอุปทาน จากการหดตัวของการผลิตภาคเกษตรกรรม ด้านอุปสงค์จากการหดตัวของดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐ การค้าชายแดน และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจจังหวัดยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

          เศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) มีสัญญาณหดตัว  สะท้อนจากดัชนี ผลผลิตภาคเกษตรกรรมในเดือนสิงหาคม 2556 หดตัวร้อยละ 17.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 29.51 เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตยางพาราหดตัวร้อยละ 17.28  เนื่องจากพื้นที่การปลูกยางพาราได้รับผลจาก ฝนตก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่ ประกอบกับราคายางพาราอยู่ในระดับต่ำ ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร ส่งผลให้ปริมาณผลิตยางพาราออกสู่ตลาดลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.64  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว   ร้อยละ 0.61 โดยพิจารณาจากจำนวนทุนจดทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ขยายตัวร้อยละ 7.01 เนื่องจากในเดือนนี้มีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าจาพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล มีเงินลงทุนจำนวน 506 ล้านบาท  สำหรับเครื่องชี้วัดภาคบริการขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคบริการ ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 9.86  เมื่อเทียบ        กับเดือนเดียวกันในปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.89 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ (การใช้จ่าย) หดตัว  จากเครื่องชี้วัดการใช้จ่ายภาครัฐบาล โดยดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐบาลหดตัวร้อยละ 57.97 จากการเบิกจ่ายงบประจำของส่วนราชการลดลง ร้อยละ 63.01 ขณะที่รายจ่ายงบลงทุนขยายตัวร้อยละ 27.90 จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายของส่วนราชการในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ด้านการค้าชายแดน หดตัวจากดัชนีการค้าชายแดนร้อยละ 29.65 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์จากยางพาราแปรรูปขั้นต้นของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งมาเลเซีย และจีน ลดลง สอดคล้องกับปริมาณการผลิตในจังหวัดที่หดตัวลง โดยการส่งออก และการนำเข้าหดตัว ร้อยละ 30.25 และ 11.32 ตามลำดับ และการบริโภคภาคเอกชนหดตัว จากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 4.05 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.54 ตามการลดลงของจำนวนรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ร้อยละ 34.35 และ 17.86 ตามลำดับ เนื่องจากรายได้ของประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรมการทำสวนยางพารา ซึ่งราคาปรับตัวลดลง ส่งผลให้ประชาชน   มีกำลังซื้อลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวร้อยละ 12.68 จากความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนในจังหวัดชะลอลง ขณะที่พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในเดือนนี้หดตัว ร้อยละ 44.35

สถานการณ์ด้านแรงงาน

  จังหวัดยะลามีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในจังหวัดยะลา จำนวน 389,755 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน273,296 คน  ผู้มีงานทำ 267,666 คน ผู้ว่างงาน 5,058 คน ผู้รอฤดูกาล 572คน

 

การมีงานทำ  ผู้มีงานทำในจังหวัดยะลาจำนวน 267,666 คน ทำงานในภาคเกษตร จำนวน 192,918 คน หรือร้อยละ 72.07 ทำงานนอกภาคเกษตร โดยทำงานในสาขาการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ มากที่สุด จำนวน 26,210 คน หรือร้อยละ 9.79 รองลงมาคือการศึกษา จำนวน 11,958 หรือ
ร้อยละ 4.5 และผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา จำนวน 81,860 คน หรือร้อยละ 30.6

การว่างงาน  จังหวัดยะลามีผู้ว่างงานประมาณ 5,058 คน หรือมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.85

โดยชายจะมีอัตราว่างงานสูงกว่าหญิงเล็กน้อย กล่าวคือ เพศชายร้อยละ 1.94 ขณะที่เพศหญิงร้อยละ 1.74 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้สูงกว่าไตรมาสที่แล้วที่มีอัตราว่างงานภาพรวมร้อยละ 0.8

 

การบริการจัดหางานในประเทศ  ในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน) ปี 2556 สถานประกอบการได้แจ้งตำแหน่งงานว่าง จำนวน 943 อัตรา โดยมีผู้สมัครงาน 1,538 คน และการบรรจุงานจะมีอัตราบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างร้อยละ 88.09

แรงงานต่างด้าว  ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ข้อมูลเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 150 คน แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นประเภทชั่วคราว จำนวน 121 คน รองลงมาคือ แรงงานต่างด้าวประเภทมาตรา 12 (ยกเว้นมติ ครม.) จำนวน 27 คน และประเภทส่งเสริมกรลงทุน จำนวน 2 คน ตามลำดับ โดยแรงงานด่างด้าวสัญชาติจีนมีมากที่สุด จำนวน 50 คน หรือร้อยละ 40.65 (ยกเว้นประเภทตลอดชีพ)

สำหรับแรงงานด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว            3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา  เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดมีจำนวนทั้งสิ้น 1,649 คน จำแนกเป็นสัญชาติ พม่า ร้อยละ 99.94 (1,648 คน) ลาว 1 คน (ร้อยละ 0.06)

 

แรงงานไทยในต่างประเทศ  ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 จังหวัดยะลา ไม่มีผู้มาแจ้งความประสงค์        ไปทำงานต่างประเทศเลย

ในส่วนของแรงงานไทยที่ได้รับอนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศไตรมาส 3 ปี 2556 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 50 คน และหากพิจารณาตามวิธีการเดินทางพบว่า เดินทางไปโดยวิธี Re-Entry ทั้งสิ้น หรือร้อยละ 100 และส่วนภูมิภาคที่แรงงานไทยไปทำงานส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่ภูมิภาคเอเชีย จำนวน 25 คน  หรือร้อยละ 50.00 ภูมิภาคอื่นๆ จำนวน 20 คน (หรือร้อยละ 40) แอฟริกา 3 คน (หรือร้อยละ 6.00) และตะวันออกกลาง จำนวน 2 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.00 ของแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด

การพัฒนาศักยภาพแรงงาน  มีผู้เข้ารับการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน จำนวน 250 คน  และผ่านการฝึก 247 คน  โดยกลุ่มอาชีพที่ฝึกยกระดับฝีมือสูงสุด ได้แก่ ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ และธุรกิจและบริการ มีผู้เข้าฝึกจำนวนสาขาละ 100 คน และผ่านการฝึกทั้งหมด ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ มีผู้เข้าฝึกจำนวน 50 คน และผ่านการฝึก 47 คน  มาตรฐานฝีมือแรงงานมีการทดสอบ 24 คน คือประเภทธุรกิจและบริการ และผ่านการทดสอบ จำนวน 19 คน

 

การคุ้มครองแรงงาน  จากการตรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 61 แห่ง  มีลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 944 คน ซึ่งสถานประกอบการที่ตรวจส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก ต่ำกว่า 10 คน ร้อยละ 59.02  โดยสถานประกอบการทุกแห่งปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

การตรวจความปลอดภัยในการทำงาน  มีการตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการทั้งสิ้น 21 แห่ง  ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 378 คน  พบว่าสถานประกอบการที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายความปลอดภัย จำนวน 20 แห่ง หรือร้อยละ 95.24  ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 1 แห่ง หรือร้อยละ 4.76  โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ได้แก่ ประเภทการก่อสร้าง

 

การประสบอันอันตราย/เจ็บป่วยจากการทำงาน  ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556  จังหวัดยะลามีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 39 คน  โดยประเภทของความร้ายแรง พบว่าส่วนใหญ่จะหยุดงานเกิน 3 วัน จำนวน 20 คน หรือร้อยละ 51.29 และหยุดไม่เกิน 3 วัน จำนวน 19 คน หรือร้อยละ 48.71

การเลิกจ้างแรงงาน  สถานประกอบกิจการในจังหวัดยะลา ที่เลิกจ้างมีจำนวน 4 แห่ง  ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4 คน เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1-9 คน ทั้ง 4 แห่ง  หรือร้อยละ 100  ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 4 คน หรือร้อยละ 100 โดยประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างได้แก่ ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด การค้าอื่นๆ สถาบันการเงิน บริการด้านธุรกิจ และอื่นๆ

 

การประกันสังคม  ข้อมูล เดือนกันยายน 2556  พบว่าจังหวัดยะลามีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมจำนวน 1,217 แห่ง ผู้ประกันตนทั้งสิ้น 13,102  คน และมีสถานพยาบาลในสังกัดประกันสังคมที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล จำนวน 2 แห่ง

TOP