Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดยะลา

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงานไตรมาส 1 ปี 2558 (มกราคม – มีนาคม)

pll_content_description

บทสรุปผู้บริหาร

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ไตรมาส 1 (มกราคม – มีนาคม) ปี 2558 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

 

สภาพเศรษฐกิจ          

         สำนักงานคลังจังหวัดยะลา รายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดยะลา ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ว่าเศรษฐกิจจังหวัดยังคงมีสัญญาณหดตัวจาก ด้านอุปสงค์ ตามการหดตัวของการค้าชายแดน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการบริโภคภาคเอกชน ด้านอุปทาน เป็นผลมากจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการชะลอตัวของภาคเกษตรกรรม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อของจังหวัดยังอยู่ในระดับต่ำ รายได้เกษตรกร ในจังหวัดยะลายังคงหดตัว เศรษฐกิจด้านอุปทาน (การผลิต) มีสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากดัชนี ผลผลิตภาคเกษตรกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ชะลอตัว ร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตยางพาราพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงร้อยละ 1.52 เนื่องจากยางพาราเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูผลัดใบ ทำให้เกษตรกรต้องหยุดพักการกรีดยาง ให้ต้นยางได้สะสมธาตุอาหาร เพื่อสร้างความเจริญเติบโตมีความสมบูรณ์เพียงพอก่อนเริ่มรอบการกรีดครั้งต่อไป ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว ร้อยละ 14.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราหดตัวร้อยละ 31.37 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก ในขณะที่ ภาคบริการ ขยายตัว โดยดัชนีภาคบริการขยายตัว ร้อยละ 10.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.74 เนื่องจากได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ และความร่วมมือที่ดีจากภาคเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทำให้ได้รับความสนใจจากนักนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอเบตง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพิ่มเติม เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ (การใช้จ่าย) โดยรวมหดตัว จากเครื่องชี้ดัชนีการค้าชายแดน หดตัวร้อยละ 45.31 จากมูลค่าการส่งออกรวมหดตัวร้อยละ 45.80 และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีความต้องการลดลง โดยการส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาจากสินค้าในหมวดที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น น้ำยางข้น ยางผสมสำเร็จ ไม้ยางพาราแปรรูป ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐบาลหดตัวร้อยละ 36.61 เป็นผลมาจากการเบิกจ่ายงบประจำ หดตัวร้อยละ 38.24 เนื่องจากส่วนราชการหลายหน่วยงานมีการเบิกจ่ายงบประจำได้ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เช่น ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมการปกครอง เป็นต้น ประกอบกับในปีนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับงบลงทุนบางส่วนในลักษณะงบประจำ ส่งผลให้เบิกจ่ายงบประจำได้ลดลง ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุน หดตัวร้อยละ 27.95 เนื่องจากส่วนราชการที่ได้รับงบลงทุนในวงเงินที่สูงอยู่ระหว่างขั้นตอนของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านดัชนีการบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 0.65 สะท้อนผ่านเครื่องชี้จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ หดตัวร้อยละ 40.91 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจังหวัดที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรที่มีกำลังซื้อลดลง 40.91 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจังหวัดที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรที่มีกำลังซื้อลดลง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ขณะที่ ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นขึ้นของพื้นที่สร้างในเขตเทศบาล และสินเชื่อเพื่อการลงทุนรวม  

 

สถานการณ์แรงงาน          

          จังหวัดยะลามีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในจังหวัดยะลา จำนวน 324,369 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน226,669 คน ผู้มีงานทำ 223,767 คน ผู้ว่างงาน 2,783 คน และผู้รอฤดูกาล 118 คน การมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดยะลา จำนวน 223,767 คน ทำงานในภาคเกษตร จำนวน 149,161 คน หรือร้อยละ 66.66 ทำงานนอกภาคเกษตร จำนวน 74,606 คน โดยทำงานในสาขาการขายส่ง ขายปลีก มากที่สุด จำนวน 30,088 คน หรือร้อยละ 40.33 รองลงมาคือกิจกรรมโรงแรมและอาหาร จำนวน 11,945 คน คิดเป็นร้อยละ 16.01 และการบริหารราชการและป้องกันประเทศ จำนวน 8,922 คน หรือร้อยละ 11.96 การว่างงาน จังหวัดยะลามีผู้ว่างงานประมาณ 2,783 คน หรือมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23 โดยชายจะมีอัตราว่างงานสูงกว่าหญิงมาก กล่าวคือ เพศชายร้อยละ 1.66 ขณะที่เพศหญิงร้อยละ 0.69 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 0.81 (ไตรมาส 4 ปี 2557 มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.04) การบริการจัดหางานในประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 1 (มกราคม – มีนาคม) ปี 2558 สถานประกอบการได้แจ้งตำแหน่งงานว่าง จำนวน 721 อัตรา โดยมีผู้สมัครงาน 1,706 คน และการบรรจุงานจะมีอัตราบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างร้อยละ 73.79 แรงงานต่างด้าว ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ข้อมูลเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวน 162 คน แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นประเภทชั่วคราว จำนวน 128 คน รองลงมาคือ แรงงาน ต่างด้าวประเภทมาตรา 12 (ยกเว้นมติ ครม.) จำนวน 33 คน และประเภทส่งเสริมกรลงทุน จำนวน 1 คน ตามลำดับ โดยแรงงานต่างด้าวที่มีมากที่สุด ได้แก่ สัญชาติอื่นๆ (ไม่ระบุ) จำนวน 86 คน หรือร้อยละ 67.19 และรองลงมาเป็นสัญชาติจีน จำนวน 33 คน หรือร้อยละ 25.78 สำหรับแรงงานด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2556 เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดมีจำนวนทั้งสิ้น 1,238 คน จำแนกเป็นสัญชาติ พม่า 1,191 คน (ร้อยละ 96.20) กัมพูชา 46 คน (ร้อยละ 3.72) และลาว 1 คน (ร้อยละ 0.08) ในส่วนของแรงงานไทยที่ได้รับอนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศไตรมาส 1 ปี 2558 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 14 คน และหากพิจารณาตามวิธีการเดินทางพบว่า เดินทางไปโดยวิธี Re-Entry จำนวน 11 คน หรือร้อยละ 78.57 และเดินทางด้วยตนเอง จำนวน3 คน คิดเป็นร้อยละ 21.43 และส่วนภูมิภาคที่แรงงานไทยไปทำงานส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่ภูมิภาคเอเชีย จำนวน 9 คน หรือร้อยละ 81.82 และตะวันออกกลาง จำนวน 2 คน (ร้อยละ 18.18) ของแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศทั้งหมด การพัฒนาศักยภาพแรงงาน มีผู้เข้ารับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน จำนวน 42 คน อยู่ระหว่างการฝึกจึงยังไม่ทราบผลการฝึกว่ามีผู้ผ่านการฝึกจำนวนกี่คน การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน จำนวน 320 คน และผ่านการฝึกทั้งหมด โดยกลุ่มอาชีพที่ฝึกยกระดับฝีมือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพธุรกิจและบริการ และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมีการทดสอบ 79 คน และผ่านการทดสอบทั้งหมด โดยประเภทที่ทดสอบ ได้แก่ ช่างเครื่องกล จำนวน 44 คน และ ประเภทธุรกิจและบริการ จำนวน 35 คน การคุ้มครองแรงงาน จากการตรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 45 แห่ง มีลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 1,107 คน ซึ่งสถานประกอบการที่ตรวจส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1-4 คน ร้อยละ 28.89โดยไม่มีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอยู่เลย การตรวจความปลอดภัยในการทำงาน มีการตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการทั้งสิ้น 44 แห่ง ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 1,507 คน พบว่าในไตรมาสนี้ไม่มีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายความปลอดภัยอยู่เลย การประสบอันอันตราย/เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 จังหวัดยะลามีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 41 คน โดยประเภทของความร้ายแรง พบว่าส่วนใหญ่จะหยุดงานไม่เกิน 3 วัน จำนวน 29 คน หรือร้อยละ 70.73 และหยุดเกิน 3 วัน จำนวน 12 คน หรือร้อยละ 29.27 และในไตรมาสนี้ไม่มีผู้ตาย สูญหาย หรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน การเลิกจ้างแรงงาน สถานประกอบกิจการในจังหวัดยะลา ที่เลิกกิจการ มีจำนวน 7 แห่ง ลูกจ้าง ถูกเลิกจ้าง 14 คน เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก 1-9 คน ทั้ง 7 แห่ง หรือร้อยละ 100 โดยประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด ได้แก่ ประเภทการค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ ประเภทสถาบันการเงิน บริการด้านธุรกิจ ประเภทละ 2 แห่ง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 6 คน ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 7 คน การประกันสังคม ข้อมูล เดือนมีนาคม 2558 พบว่าจังหวัดยะลามีสถานประกอบการที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจำนวน 1,426 แห่ง จำนวนสถานประกอบการและลูกจ้างที่อยู่ในข่ายกองทุนเงินทดแทน จำนวน 1,203 แห่ง ลูกจ้าง 12,381 คน และมีสถานพยาบาลในสังกัดประกันสังคมที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล จำนวน 2 แห่ง

ไฟล์แนบ:

pll_file_namebthsrupphuubrihaar

ขนาด : 41 kb
วันที่สร้าง : 16 ก.พ. 2560
TOP